swfupload.org – รู้จัก “ปลาตะเพียน” พร้อมเมนูแนะนำ-วิธีหั่นให้ไร้ก้างติดคอ!
จากภาคต่อของละครบุพเพสันนิวาสอย่างละครเรื่อง “พรหมลิขิต” มีการระบุว่า พระเจ้าท้ายสระ ทรงโปรดปลาตะเพียน ถึงขั้นสั่งห้ามประชาชนจับกิน และทรงถูกพระทัยปลาตะเพียนทอดเป็นอย่างมาก แต่! รู้หรือไม่ว่า นอกจากปลาตะเพียนทอดแล้ว เรายังสามารถนำปลาตะเพียนมาทำเมนูอื่นได้ด้วย!
โดยวันนี้ เราจะพามาทำความรู้จักกับ “ปลาตะเพียน” พร้อมวิธีการหั่นแบบไร้ก้าง และเมนูปลาตะเพียนที่น่าสนใจ ยั่วน้ำลายให้ลิ้มลอง!
รู้จัก “ปลาตะเพียน”
“ปลาตะเพียนขาว” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ปลาตะเพียน” เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบแหลมอินโดจีน ชวา ไทย สุมาตรา อินเดีย และปากีสถาน โดยในประเทศไทยมีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ มีลักษณะลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก ปากเล็ก ขอบส่วนหลังโค้งยกสูงขึ้น จะงอยปากแหลม มีหนวดเส้นเล็ก ๆ 2 คู่ มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว 29 -31 เกล็ด ลำตัวมีสีเงินแวววาว ส่วนหลังมีสีคล้ำเล็กน้อย ส่วนท้องมีสีขาว ที่โคนของเกล็ดมีสีเทาจนเกือบดำ โตเต็มที่จะมีลำตัวยาวสูงสุดถึง 50 เซนติเมตร
มีการสันนิษฐานว่า ปลาตะเพียน เป็นสัตว์น้ำคู่กับแผ่นดินแถบสุวรรณภูมิมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เนื่องจากมีหลักฐานการพบลวดลายคล้ายปลาตะเพียน บนเครื่องชามและเครื่องอุปโภคบริโภคของผู้คนในยุคนั้น ก่อนที่จะมาพบหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ความว่า
เทโพและเทพา ตะเพียนกาพาพวกจร
อ้ายบ้าปลาสลุมพอน ผักพร้าเพรี้ยแลหนวดพราหมณ์
เทโพพาพวกพ้อง เทพา
ปลาตะเพียนปลากาพา คู่เคี้ย
สลุมพอนอ้ายบ้าปลา หลายหมู่
ปลาผักพร้าม้าเพรี้ย ว่ายไล่หนวดพราหมณ์
นอกจากนี้ ในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ฯ ยังมีการระบุว่า พระเจ้าท้ายสระทรงโปรดปรานการล่องเรือและการตกปลามาก เช่นเดียวกับพระเจ้าเสือ พระราชบิดา ซึ่งพระเจ้าท้ายสระโปรดเสวยปลาตะเพียนมาก ถึงขั้นที่ห้ามประชาชนรับประทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5 ตำลึง (20 บาท)
แนะนำเมนูปลาตะเพียน
- แกงส้มปลาตะเพียนหน่อไม้ดอง
- ปลาตะเพียนนึ่งผักลวก
- ปลาตะเพียนทอดขมิ้น
- ปลาตะเพียนต้มมะขาม
- ปลาตะเพียนนึ่งโชยุ
- ต้มยำปลาตะเพียน
- ปลาตะเพียนต้มเค็ม
- ปลาตะเพียนทอดราดพริกสามรส
- ลาบปลาตะเพียนทอด
- ปลาตะเพียนทอดราดซอสเต้าเจี้ยว
วิธีหั่นปลาตะเพียน ไร้ปัญหาก้างติดคอ!
เนื่องจากปลาตะเพียน เป็นปลาที่ได้ชื่อว่ามีก้างเยอะมาก จึงมีการคิดค้นวิธีการหั่นปลาตะเพียนที่ทำให้ไร้ปัญหาเคี้ยวโดนก้าง นั่นคือ การหั่นเป็นบั้งถี่ ๆ จนก้างเล็ก ๆ ขาดจากกัน โดยหั่นให้มีความกว้างประมาณครึ่งเซนติเมตร หากหั่นหนาเกินไป จะรับประทานก้างไม่ได้นั่นเอง